ความหมาย การอยู่ร่วมกัน และองค์ประกอบของสังคม
ความหมายของสังคม
สังคม คือ กลุ่มคนอย่างน้อยสองคนขึ้นไปมาอาศัยอยู่ร่วมกันในบริเวณหนึ่ง ซึ่งคนเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์ หรือการกระทำโต้ตอบกันและกันทั้งทางตรงและทางอ้อม
การอยู่ร่วมกันเป็นสังคม
อริสโตเติล (Aristotle) นักปราชญ์ชาวกรีกได้กล่าวไว้ว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม (social animal) ซึ่งหมายความว่า มนุษย์จะมีชีวิตโดยอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เหล่า มีความเกี่ยวข้องกันและกัน และใความสัมพันธ์กันในหมู่มวลสมาชิก
องค์ประกอบทางสังคม
1) ประชากร จะต้องมีจำนวนตั้งแต่สองคนขึ้นไป
2) ความสัมพันธ์ ประชากรหรือสมาชิกในสังคมนั้น จะต้องมีความสัมพธ์และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน
3) พื้นที่หรืออาณาเขต คนในสังคมจะอาศัยอยู่ในบริเวณแห่งใดแห่งหนึ่ง พื้นที่อาจมีขนาดจำกัด
4) การจัดระเบียบทางสังคม การอยู่ร่วมกันเป็นสังคมนั้น สมาชิกจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ หรือบรรทัดฐานทางสังคม (social norms) ที่ควบคุมตามตำแหน่ง สิทธิ และหน้าที่ของสมาชิกแต่ละคน บรรทัดฐานทางสังคมจะมีระเบียบแบบแผน เป็นที่ยอมรับและเข้าใจร่วมกันของคนในสังคม เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข
5) การมีวัฒนธรรมของตนเอง พวกเขาก็สร้างวัฒนธรรมเฉพาะของตนเองที่แตกต่างจากวัฒนธรรมของชนกลุ่มอื่น เพื่อตอบสนองความต้องการ
หน้าที่ของสังคม
การดูแลสมาชิกให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข สร้างความเป็นธรรมด้วยการประสานประโยชน์ให้สมาชิกทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างลงตัว เพื่อความเจริญก้าวหน้าของสังคม
โครงสร้างทางสังคม
หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ค่อนข้างมั่นคง หรือการจัดระเบียบของกลุ่ม โครงสร้างทางสังคมแบ่งได้ 2 ระดับ ได้แก่ กลุ่มสังคมและสถาบันทางสังคม
สถาบันทางสังคม
สถาบันสังคม หมายถึง แบบอย่างพฤติกรรมที่ตั้งขึ้นและปฏิบัติสืบต่อกันมาและเป็นที่ยอมรับในสังคม ประเพณีต่างๆ สถาบันครอบครัว สถาบันเศรษฐกิจ สถาบันการศึกษา มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ คือ
1. บุคคล คือ บุคคลที่ได้จัดระเบียบแล้ว เช่น มีสถานภาพ มีบทบาท มีการควบคุมทางสังคม มีการจัดระเบียบสังคมและมีค่านิยม
2. หน้าที่ของสถาบันทางสังคม คือ วัตถุประสงค์ในการสนองความต้องการของสังคม
3. แบบแผนการปฏิบัติ หรือพฤติกรรม คือกฎเกณฑ์ บรรทัดฐาน ที่เป็นแนวทางในการปฏิบัติของสมาชิกในสังคม
• สถาบันครอบครัว
1. องค์การทางสังคม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.1 ครอบครัวเดี่ยว คือ ครอบครัวที่ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก
1.2 ครอบครัวขยาย คือ ครอบครัวขนาดใหญ่ ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูกและญาติๆ
2. หน้าที่ สร้างสรรค์สมาชิกใหม่ เลี้ยงดูผู้เยาว์ ให้ความรักความอบอุ่น อบรมสั่งสอนและกำหนดสถานภาพทางสังคม
3. แบบแผนการปฏิบัติ คือ ให้แนวทางในการปฏิบัติต่อกันในครอบครัว
• สถาบันการศึกษา
ทำหน้าที่ ถ่ายทอดความรู้ ความคิดให้แก่สมาชิกในสังคมเพื่อให้สังคมมีความเจริญก้าวหน้า รู้จักในการแก้ปัญหาด้วยหลักและวิธีการอันเหมาะสม
1. องค์การทางสังคม ได้แก่ กลุ่มคนที่ทำงานในกระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย สภาการศึกษา กลุ่มครู อาจารย์
2. หน้าที่ ของสถาบันการศึกษา
2.1 การพัฒนาคน
2.2 การให้ความรู้ ความเข้าใจ และความสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์
2.3 การสอน และการส่งเสริมในด้านวิชาชีพและศิลปวัฒนธรรม
2.4 จัดแหล่งความรู้และวิทยาการที่อำนวยความสะดวกต่อสังคม
3. แบบแผนการปฏิบัติ คือ การจัดการเกี่ยวกับการศึกษา และการวางมาตราฐานการศึกษา
• สถาบันศาสนา
เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ประกอบด้วย 3 ประการ คือ ความเชื่อ การแสดงออก ความรู้สึกทางอารมณ์ องค์ประกอบของสถาบันศาสนามี 3 ประเภทคือ1. องค์การทางสังคม เช่น กลุ่มเจ้าอาวาส กลุ่มพระ กลุ่มชี กลุ่มบาทหลวง2. หน้าที่ของสถาบันทางการศาสนา - การให้การอบรมสั่งสอน - การปกป้อง คุ้มครอง - การรักษากฎ ศีลธรรมของสังคม - การขัดเกลาพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางสังคม3. แบบแผนการปฏิบัติ เช่น การปฏิบัติตามบทบัญญัติ หลักธรรม ประเพณี
• สถาบันเศรษฐกิจ
เป็นสถาบันเกี่ยวกับความอยู่รอดของมนุษย์ในการดำรงชีวิตในสังคม องค์ประกอบของสถาบันเศรษฐกิจมี
1. องค์การทางสังคม ได้แก่ กลุ่มที่ทำงานในธนาคาร บริษัท ห้างร้าน โรงงาน
2. หน้าที่ของสถาบันทางเศรษฐกิจ
2.1 สนองความต้องการทางเศรษฐกิจ
2.2 จัดอำนวยความสะดวกในทางเศรษฐกิจ
2.3 พัฒนาความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
2.4 ช่วยเหลือเกื้อกูลให้มีการบริโภคอย่างเพียงพอและทั่วถึง
3. แบบแผนการปฏิบัติ ได้แก่ การจัดระบบทรัพย์ มีเงื่อนไขสัญญา การอาชีพ การแลกเปลี่ยนและการตลาด
• สถาบันทางการเมืองการปกครอง
องค์ประกอบของสถาบันการเมืองการปกครองมี 3 ประเภทคือ
1. องค์การทางสังคม ได้แก่ พระบรมวงศานุวงศ์ และรัฐบาล ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ราษฎร
2. หน้าที่ของสถาบันการเมืองการปกครอง
2.1 รักษาความสงบเรียบร้อย
2.2 ระงับข้อขัดแย้งระหว่างบุคคล
2.3 คุ้มครองบุคคลให้ได้รับความปลอดภัย
3. แบบแผนการปฏิบัติ ได้แก่ การจัดให้มีกฎหมายต่าง ๆ เป็นแนวทางในการปฏิบัติ เช่นกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์
การจัดระเบียบทางสังคม
การจัดระเบียบทางสังคม หมายถึง วิธีการที่คนในสังคมกำหนดขึ้นมาเพื่อให้คนที่มาอยู่รวมกันประพฤติปฏิบัติตาม รวมทั้งทำให้สังคมมีความมั่นคงและสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย
1. บรรทัดฐานทางสังคม เกิดขึ้นเนื่องจากมนุษย์ต้องอยู่รวมกัน ซึ่งโดยปกติมนุษย์มักจะทำอะไรตามใจตัวเอง ดังนั้น สังคมจึงกำหนดกฎระเบียบแบบแผนขึ้นมาเพื่อให้สมาชิกในสังคมได้ประพฤติปฏิบัติ
2. สถานภาพ ในแต่ละสังคมที่เราพบเห็นนั้น เมื่อดูผิวเผินก็จะพบคนและกลุ่มคนมากมาย ซึ่งต่างก็มีการกระทำโต้ตอบกัน ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมตามตำแหน่งและหน้าที่ที่สังคมกำหนดไว้ โดยสถานภาพแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท
2.1 สถานภาพที่ติดตัวเรามาตั้งแต่กำเนิด (Ascribed Status) เป็นสภาพที่ได้มาโดยสังคมเป็นผู้กำหนด หรือเป็นสถานภาพที่ไมาทางเงื่อนไขทางชีวภาพ
2.2 สถานภาพที่ได้รับมาภายหลัง (Achieved Status) เป็นสถานภาพที่บุคคลนั้นได้รับมาภายหลังจากการกระทำ แสวงหาหรือทำงานตามความสามารถของตน
3.บทบาท คือ การแสดงพฤติกรรม หรือการกระทำตามสถานภาพที่สังคมกำหนด สถานภาพและบทบาทจะมีความเกี่ยงข้องกันเมื่อพูดถึงสถานภาพก็จะพูดถึงบทบาทไปด้วย
การขัดเกลาทางสังคม
การขัดเกลาทางสังคม หมายถึง กระบวนการที่คนเรียนรู้การเป็นสมาชิกของกลุ่มหรือสังคม โดยการซึมซับเอาบรรทัดฐานและค่านิยมทางสังคมมาเป็นของตนและเรียนรู้และเรียนรู้ในการปฏิบัติตนตามบทบาทและภาระหน้าที่ทางสังคม การขัดเกลาทางสังคมอาจจำแนกได้ 2 ประเภท
1. การขัดเกลาทางสังคมโดยทางตรง เช่นการอบรมสั่งสอน
2. การขัดเกลาทางสังคมโดยทางอ้อม เช่น การอ่านหนังสือพิมพ์ การฟังวิทยุหรือดูโทรทัศน์
การเปลี่ยนแปลงในสังคม
สังคมมนุษย์มีลักษณะเช่นเดียวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ คือ มีการเปลี่ยนแปลง บางสังคมเปลี่ยนแปลงช้าขณะที่บางสังคมเปลี่ยนเร็ว เช่น การเปลี่ยนแปลงของวัตถุ เทคโนโลยี ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม หรือ กฎหมาย ในอดีตสังคมส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ จนเกือบไม่มีอะไรเปลี่ยนอย่างสำคัญในรอบร้อยปี แต่ในระยะประมาณร้อยปีที่แล้วสังคมจำนวนหนึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากสภาพสังคมแบบโบราณกลายเป็นสังคมสมัยใหม่ ที่เห็นชัดเจนคือการเปลี่ยนจากสังคมแบบเกษตรกรรมมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม จากสังคมแบบชนบทมาเป็นสังคมเมือง
ปัญหาสังคมไทยและแนวทางการแก้ปัญหา
ภาวะใดๆ ในสังคมที่คนจำนวนมากถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติ และไม่พึงปรารถนา รู้สึกไม่สบายใจและต้องการให้มีการแก้ไขให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการทุจริตในวงราชการ ปัญหายาเสพติด เป็นต้น ปัญหาสังคม เป็นผลมาจากกระบวนการทางสังคม รวมถึงการประเมินพฤติกรรมของคนในสังคมด้วยมาตรฐานศีลธรรมในขณะนั้น
สังคมไทยก็เป็นเช่นเดียวกับสังคมอื่นๆทั่วโลกที่มีปัญหา เพราะทุกสังคมมีการเปลี่ยนแปลงมีคนกระทำพฤติกรรมเบี่ยงเบนความสัมพันธ์ และสถาบันทางสังคมทำหน้าที่ไม่ครบสมบูรณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยพื้นฐานทำให้เกิดปัญหาสังคมได้ ปัญหาสังคมอาจมีความรุนแรงส่งผลกระทบต่อสังคมในระดับและขอบเขตที่ต่างกัน เช่น ระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับโลก
• ปัญหายาเสพติด
สาเหตุของปัญหายาเสพติดมาจากความอยากรู้อยากลองของเด็กเอง และไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากผู้ใหญ่ จึงหลงผิดไม่รู้ถึงโทษหรือผลลัพธ์ที่จะเกิดตามมา และสาเหตุอีกสำคัญอีกประการหนึ่งมาจากสภาพแวดล้อมภายนอกที่ผลักดันให้คนหันไปหายาเสพติด
แนวทางการแก้ไขและปราบปรามปัญหายาเสพติดที่สำคัญ มีดังนี้
1. นโยบายของรัฐบาล ด้านการปราบปรามปัญหาด้านยาเสพติด โดยการจับกุมทำลายแหล่งผลิตยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง และออกกฎหมายเพิ่มโทษผู้ผลิตและผู้ขายอย่างรุนแรง
2. สถานบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ดำเนินการเพื่อให้เลิกใช้สารเสพติดอนึ่งการบำบัดรักษาต้องได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสถาบันการศึกษา สถาบันทางศาสนา และสถาบันนันทนาการ ในการให้ความช่วยเหลือผู้ติดยาด้านเงินบริจาคกับสถานบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดให้สามารถออกเยี่ยมผู้ป่วย เพื่อให้กำลังใจแก่ผู้ติดยาได้อย่างสม่ำเสมอ
3. ความช่วยเหลือจากองค์กรเอกชน ปัจจุบันมีองค์กรเอกชนมากมายที่ให้ความช่วยเหลือผู้ติดยาให้สามารถ ลด ละ เลิกการใช้ยาเสพติด
• ปัญหาการทุจริต
ปัญหาการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือคอร์รัปชั่นถือเป็นปัญหาที่สำคัญระดับชาติ จะเห็นได้ว่าการทุจริตมีตั้งแต่ในระดับสูงลงมาจนถึงระดับท้องถิ่น แม้ว่าจะมีการปราบปรามและรณรงค์ต่อต้านอยู่เนื่องๆ แล้วก็ตาม
สาเหตุสำคัญของการเกิดปัญหาทุจริตมาจากความต้องการบริโภคเกินความพอดี คือมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย จึงหาช่องทางทุจริตนำเอาทรัพย์สินของคนอื่นและของทางราชการมาเป็นของตนเอง รวมทั้งกฎเกณฑ์และกฎศีลธรรมของคนในสังคมเสื่อมลง จึงทำผิดได้โดยไม่มีความละอายและเกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมืองแนวทางการแก้ไขปัญหาจึงเริ่มจากการปลูกฝังค่านิยมที่ดี โดยเฉพาะการปลูกฝังให้เห็นว่าประโยชน์ส่วนรวมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด รวมทั้งต้องมีการรณรงค์ให้คนในสังคมรังเกียจการทุจริต เน้นความซื่อสัตย์ ภูมิใจในศักดิ์ศรีของตนเอง โดยต้องปลูกฝังตั้งแต่ในวัยเด็กผ่านทางการอบรมสั่งสอนของบิดามารดา และการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อให้ค่านิยมเหล่านี้ซึมลึกอยู่ในจิตใจของคนไทยทุกคน
นอกจากนี้ บทลงโทษทางสังคมก็จะต้องเข้มแข็งไม่ให้มีช่องโหว่ทางกฎหมายในการช่วยเหลือพวกพ้องให้พ้นผิด คนจะได้ไม่กล้าทุจริต และสังคมต้องให้การสนับสนุนด้วยการชี้เบาะแสผู้กระทำผิดให้กับองค์กร ก็จะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหานี้ให้ลดน้อยลงได้
ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและสังคมปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและสังคมกำลังเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างมาก เพราะปัญหาดังกล่าวนำไปสู่ปัญหาสังคมต่างๆ เช่น ปัญหาการหย่าร้างปัญหาการทารุณกรรมในครอบครัว ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ปัญหาสิทธิเด็กและสตรีปัญหาวัยรุ่น เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น และอาจเป็นแนวทางนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด และการพนัน ต่อไปได้สาเหตุหลักๆ ของปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและสังคมนั้นมาจากการที่สังคมมีจำนวนสมาชิกหรือจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้คนในสังคมต้องแข่งขันกันในด้านต่างๆ จนเกิดความเครียด หรือสภาพสังคมที่เน้นวัตถุนิยม รวมทั้งการยับยั้งชั่งใจและการควบคุมอารมณ์ให้มีสติของคนในสังคมมีน้อยลง จึงทำให้หลายคนหันไปใช้กำลังและความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่
แนวทางการแก้ไขปัญหาควรเริ่มจากการสร้างค่านิยมการให้เกียรติกันและกันในครอบครัว หันหน้าปรึกษาหารือกันทั้งทางด้านการเงิน การเรียน การดำเนินชีวิต และทางด้านจิตใจ สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้ครอบครัวมีความเอื้ออาทร ลดความรุนแรงอย่างยั่งยืนได้ และต้องอาศัย ความร่วมมือจากองค์กรช่วยเหลือต่างๆ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
แนวทางการพัฒนาทางสังคม
สังคมมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาด้วยอัตราที่เร็วบ้างช้าบ้าง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก่อให้เกิดผลดีมากมายแต่ในขณะเดียวกันผลกระทบในทางลบก็เกิดขึ้นหลากหลายเช่นกัน จนกลายเป็นปัญหาสังคมที่จะต้องร่วมกันแก้ไข โดยในช่วงที่ผ่านมาผลการพัฒนาสังคมของ ไทยนั้น ประสบผลสำเร็จในหลายด้าน แต่ความก้าวหน้าในเชิงคุณภาพยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เช่น คุณภาพการศึกษาของเด็กไทย โดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ด้อย กลุ่มแรงงานยังมีระดับการศึกษาต่ำ สุขอนามัยยังอยู่ในภาวะเสี่ยงจาก การเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมอันไม่เหมาะสม ปัญหาด้านสุขภาพ ความมั่นคงและความปลอดภัย ของคนและสังคมยังน่าวิตก สังคมยังมีการก่ออาชญากรรม ทำร้ายร่างกาย จนถึงอาชญากรรม ข้ามชาติ และสถาบันครอบครัวมีแนวโน้มอ่อนแอลงทุกขณะ โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาไว้ ดังนี้
1. ยกระดับคุณภาพคนไทย เข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ โดยการสร้างศักยภาพ การเรียนรู้ ทักษะชีวิต สร้างภูมิคุ้มกัน สร้างจิตสาธารณะ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และให้มี สุขภาพดีทุกมิติ
2. เตรียมความพร้อมสังคมไทยสู่สังคมผู้สูงอายุ จำนวนประชากรผู้สูงอายุ ของประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ทั้งนี้เป็นเพราะความเจริญก้าวหน้าทางด้าน การแพทย์
3. สร้างความมั่นคงทางสังคมแก่คนไทย โดยให้ทุกคนได้รับการคุ้มครองทาง สังคม มีที่พักอาศัยที่มั่นคง มีความปลอดภัยในชุมชน และสร้างหลักประกันทางสังคมให้สามารถ ดำรงชีวิตและทำมาหากินได้อย่างปกติสุข
4. รักษาคุณค่าของสังคมไทย โดยการนำทุนทางสังคมหรือสิ่งดีๆ ที่มีอยู่แล้ว ในสังคมมาก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
กล่าวโดยสรุป การศึกษาสังคมมนุษย์นั้น จำเป็นต้องเรียนรู้ถึงโครงสร้างทางสังคม เพื่อให้สามารถมองเห็นลักษณะของระบบและสถานบันทางสังคมอย่างชัดเจน สามารถเข้าใจ กลไกการจัดระเบียบทางสังคมที่ยืดโยงสังคมให้ธำรงอยู่และมีเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละสังคม โดยความสัมพันธ์ของสมาชิกในสังคมจะอยู่ภายใต้โครงสร้างสังคมที่อาจเป็นไปได้ ทั้งในทางความร่วมมือสนับสนุนกันและกัน การแข่งขัน การขัดแย้ง การประนีประนอม หรือการเอาเปรียบกัน แต่ทั้งหมดก็จะต้องเป็นไปตามระเบียบแบบแผนหรืออยู่ในกรอบของสังคมนั้น
เมื่อสังคมมีสมาชิกใหม่ กระบวนการขัดเกลาทางสังคมก็จะบังเกิดขึ้น เพื่อให้สมาชิกใหม่ ได้เรียนรู้คุณธรรมคุณค่า และอุดมคติที่สังคมยึดมั่น และได้เรียนรู้บรรทัดฐานและ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ใช้ในสังคม ซึ่งจะทำให้ผู้นั้นเป็นสมาชิกของสังคมได้อย่างสมบูรณ์ การขัดเกลาทางสังคมอาจเป็นไปในทางตรง เช่น สอนพูด สอนมารยาท และทางอ้อม เช่น ผ่านสื่อต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต และการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมนอกจากนี้สังคมทั้งหลายมิได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและ ตามแรงกระตุ้นต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทำให้โครงสร้างและการจัดระเบียบ ทางสังคมต้องปรับเปลี่ยนไปตามกระแส ทั้งทางบวกและทางลบ ซึ่งผลกระทบในทางลบ ที่เกิดขึ้นอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา ดังนั้น ประชาชนทุกคนต้องร่วมกันแก้ไข และสร้างแนวทางในการพัฒนาสังคม เพื่อให้โครงสร้างและการจัดระเบียบทางสังคม ปรับเปลี่ยนตามบริบทที่อยู่บนรากฐานของความเป็นไทยอย่างแท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น